ทบ. ไทย – กองทัพสหรัฐฯ สานสัมพันธ์แน่นแฟ้น ขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนฝึกศึกษา พัฒนาภูมิภาคตามยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิค
กองทัพบกดำรงนโยบายสานสัมพันธ์กับมิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (๑๘ เม.ย. ๖๖) พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับ พลเอก ชาร์ลส เอ ฟลินน์ (Charles A. Flynn) ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) และคณะ ที่เข้าเยี่ยมคำนับ ณ กองบัญชาการกองทัพบกในโอกาสเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเจรจาการทำงาน (Working Visit) ระหว่าง ๑๗ – ๒๐ เม.ย. ๖๖ และ ในโอกาสนี้กองทัพบกได้จัดกองทหารเกียรติยศให้การต้อนรับ พร้อมจัดพิธีวางพวงมาลา ณ กำแพงอนุสรณ์กองทัพบก จากนั้นได้เข้าร่วมฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับหน้าที่และภารกิจของกองทัพบก และการฝึกระหว่างกองทัพบกไทยและกองทัพบกสหรัฐฯ ก่อนเข้าหารือกับผู้บัญชาการทหารบกเกี่ยวกับความร่วมมือ
ด้านความมั่นคงและด้านต่างๆ ณ อาคารศรีสิทธิสงคราม
ในการหารือ ผู้บัญชาการทหารบกได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯภาคพื้นแปซิฟิกอีกครั้ง หลังจากมีโอกาสต้อนรับการเยือน เมื่อ ๒๓ มี.ค. ๖๕ ณ กองบัญชาการกองทัพบก และได้พบปะหารือผ่านระบบ VTC เมื่อ ๒๒ ก.ค. ๖๔ ในการเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯภาคพื้นแปซิฟิกได้รับเกียรติบรรยายพิเศษ ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในหัวข้อเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่านับเป็นโอกาสดีที่นายทหารนักเรียนจะได้รับความรู้และมุมมองตามวิสัยทัศน์ของผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานต่อไป
การเยือนราชอาณาจักรไทยของผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกในครั้งนี้ แสดงถึงมิตรภาพที่มั่นคง เท่าเทียม อย่างยาวนาน ระหว่างกองทัพบกไทย – กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกได้ระบุว่าจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสัมมนากำลังทางบกภาคพื้นแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๖๖ (LANPAC) ระหว่าง ๑๗ – ๑๘ พ.ค. ๖๖ ณ ไวกิกิ รัฐฮาวาย สหรัฐฯ เพื่อขยายความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง การสร้างขีดความสามารถร่วมกันตามยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิค
ทั้งนี้ที่ผ่านมากองทัพบกไทย – กองทัพสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างต่อเนื่องผ่านกรอบความร่วมมือของกลไกการประชุมระดับฝ่ายอำนวยการ การประชุมผู้บริหารระดับกลาง และการฝึกร่วมภายใต้รหัสการฝึกต่างๆ อาทิ Hanuman Guardian, Lightning Forge22, Balance Touch, Vector Balance Torch เป็นต้น นอกจากนี้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมในหลักสูตรยานเกราะแบบ Stryker และการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างสองกองทัพอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กองทัพบกไทยได้สนับสนุนให้สหรัฐฯ ส่งนายทหารนักเรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษาทางทหารของไทย รวมถึงการส่งกำลังพลเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างสองกองทัพภายใต้ความร่วมมือทางทหารหลายโครงการ ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นตั้งแต่ในระดับนายทหารนักเรียน
………………………….
๑๘ เมษายน ๒๕๖๖